วันศุกร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

กฎหมายปกครอง (LP 615) ชุด 1

คำถาม กฎได้แก่อะไรบ้าง
กฎ ได้แก่ พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง ข้อบัญญัติท้องถิ่น ระเบียบ ข้อบังคับ หรือบทบัญญัติอื่นที่มีผลบังคับเป็นการทั่วไป โดยไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดหรือบุคคลใดเป็นการเฉพาะ

คำถาม ผู้ใช้กฎหมายปกครองได้แก่ใครบ้าง
ผู้ใช้กฎหมายปกครอง โดยทั่วไปแล้วจะมีอยู่เพียง 2 บุคคลเท่านั้น คือ “หน่วยงานทางปกครอง” และ “เจ้าหน้าที่”
1.1 หน่วยงานทางปกครอง ได้แก่
- องค์กรหรือหน่วยงานในการบริหารราชการส่วนกลาง ซึ่งได้แก่ กระทรวง ทบวง กรม นอกจากนี้กฎหมายบัญญัติให้กระทรวง ทบวง กรม มีฐานะเป็นนิติบุคคล คือ มีสภาพบุคคลตามกฎหมายเพื่อที่จะสามารถดำเนินกิจการต่างๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติให้อำนาจหน้าที่ไว้ได้
- องค์กรหรือหน่วยงานในการบริหารราชการส่วนภูมิภาค ซึ่งได้แก่ จังหวัด และอำเภอ โดยกฎหมายยังบัญญัติให้เฉพาะจังหวัดเท่านั้นที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล
- องค์กรหรือหน่วยงานในการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ซึ่งได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เทศบาล กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา โดยมีอำนาจหน้าที่ในทางปกครองตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติที่จัดตั้งองค์การนั้น ๆ
- รัฐวิสาหกิจ คือ หน่วยงานที่ขึ้นต้นด้วย “องค์การ” หรือ “การ” มีอยู่ทั้งหมดประมาณ 60 แห่ง เช่น การไฟฟ้าฯ การประปาฯ การท่าเรือฯ เหล่านี้ล้วนเป็นรัฐวิสาหกิจที่จัดขึ้นตามกฎหมายเฉพาะ การดำเนินกิจการของรัฐวิสาหกิจเหล่านี้จึงต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติให้อำนาจหน้าที่ไว้เท่านั้น
- หน่วยงานอื่นๆ ของรัฐที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นหน่วยงานทางปกครอง เป็นหน่วยงานที่ไม่สังกัดกระทรวง ทบวง กรม ใดเลย ซึ่งมีอยู่หลายหน่วยงาน เช่น สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลบ้านแพ้ว เป็นต้น
- หน่วยงานเอกชนที่ใช้อำนาจหรือได้รับมอบให้ใช้อำนาจทางปกครอง จะเห็นว่าหน่วยงานเอกชนบางแห่งก็เป็นหน่วยงานทางปกครองได้เช่นกัน แต่จะเป็นหน่วยงานปกครองได้ก็ต้องมีอำนาจหน้าที่ในทางปกครองก่อน ไม่ว่าจะมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายหรืออำนาจหน้าที่ตามสัญญาก็ตาม เช่น สำนักงานรังวัดเอกชน สภาทนายความ แพทยสภา สภาวิศวกร เป็นต้น
1.2 เจ้าหน้าที่ หมายถึงบุคคลหรือคณะบุคคลซึ่งใช้อำนาจหรือได้รับมอบ หมายให้ใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย เช่น ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ รวมไปถึงคณะกรรมการที่จัดตั้งให้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย เช่น คณะกรรมการพิจารณาค่าเวนคืน คณะกรรมการตรวจสอบราคา คณะกรรมการประเมินฯ เป็นต้น แม้บุคคลใดบุคคลหนึ่งที่มาเป็นคณะกรรมการอาจจะไม่ใช่ข้าราชการ แต่เมื่อได้รับการแต่งตั้งมาเป็นคณะกรรมการใดก็ตาม คณะกรรมการนั้นก็ถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายปกครอง เนื่องจากมติต่างๆ ของคณะกรรมการมีผลกระทบต่อบุคคลภายนอก คือ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับต่อสถานภาพหรือสิทธิของบุคคล


คำถาม กรณีพิพาทที่เกิดจากการใช้อำนาจทางปกครองจะต้องนำคดีไปฟ้องยังศาลปกครอง จงอธิบายว่ากรณีพิพาทใดบ้างที่จะต้องนำคดีไปฟ้องศาลปกครอง
แนวคำตอบ
(1) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดเนื่องจากกระทำโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น หรือโดยไม่สุจริต หรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นหรือสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ
(2) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินควร
(3) คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมาย
กำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินควร
(4) คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง
(5) คดีที่มีกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐฟ้องคดีต่อศาลเพื่อบังคับให้บุคคลต้องกระทำ หรือละเว้นกระทำอย่างหนึ่งอย่างใด
(6) คดีพิพาทเกี่ยวกับเรื่องที่กฎหมายกำหนดให้อยู่ในเขตอาจศาลปกครอง


คำถาม การใช้อำนาจทางปกครอง คือการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับต่อสถานภาพหรือสิทธิของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว
ตัวอย่างของการใช้อำนาจทางปกครอง ได้แก่
ก. การออกคำสั่งทางปกครอง เช่น การสั่งการ อนุญาต อนุมัติ วินิจฉัยอุทธรณ์ รับรอง
ข. การออกกฎ เช่น ออกพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อบัญญัติท้องถิ่น
ค. การกระทำทางปกครอง
ง. สัญญาทางปกครอง


คำถาม ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องใดบ้าง
แนวคำตอบ ศาลปกครองมีอำนาจหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีตาม พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 โดยในการพิจารณาว่าคดีใดอยู่ในอำนาจศาลปกครองนั้นจะต้องพิจารณาจากหลักเกณฑ์สำคัญ 2 ประการควบคู่กัน คือ
ประการแรก คือ ใคร คือ คู่พิพาท และ
ประการที่สอง คือ คดีนั้นอยู่ในอำนาจศาลปกครองหรือไม่
1. คู่พิพาทในคดีปกครองแบ่งออกเป็น 5 กรณี คือ
1.) เอกชนพิพาทกับหน่วยงานทางปกครอง
2.) เอกชนพิพาทกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ
3.) หน่วยงานทางปกครองพิพาทกับหน่วยงานทางปกครอง
4.) เจ้าหน้าที่ของรัฐพิพาทกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ
5.) เจ้าหน้าที่ของรัฐพิพาทกับหน่วยงานทางปกครอง
2. คดีที่อยู่ในอำนาจศาลปกครอง
คดีที่อยู่ในอำนาจศาลปกครอง ได้แก่
1.) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใด เนื่องจาก กระทำโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น หรือโดยไม่สุจริต หรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็น หรือสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ
2.) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
3.) คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิด หรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
4.) คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง
5.) คดีที่กฎหมายกำหนดให้หน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐฟ้องคดีต่อศาลเพื่อบังคับให้บุคคลต้องกระทำ หรือละเว้นกระทำอย่างหนึ่งอย่างใด
6.) คดีพิพาทเกี่ยวกับเรื่องที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง
เรื่องดังต่อไปนี้ไม่อยู่ในอำนาจศาลปกครอง
1) การดำเนินการเกี่ยวกับวินัยทหาร
2) การดำเนินการของคณะกรรมการตุลาการตามกฎหมายว่าด้วย
ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ
3) คดีที่อยู่ในอำนาจศาลเยาวชนและครอบครัว ศาลแรงงาน ศาลภาษีอากร ศาลทรัพย์สินทางปัญญา และการค้าระหว่างประเทศ ศาลล้มละลาย หรือศาลชำนัญพิเศษอื่น

ไตรภพ USA

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น