วันศุกร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

กฎหมายปกครอง (LP615) ชุด 2

คำถาม กฎหมายปกครอง คืออะไร
กฎหมายปกครอง เป็นกฎหมายที่บัญญัติให้อำนาจและหน้าที่ในทางปกครองแก่หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อทำหน้าที่ในทางปกครองหรือการบริการสาธารณะซึ่งการใช้อำนาจทางปกครองตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้อาจทำให้เกิดกรณีพิพาทได้เป็นกรณีพิพาททางปกครอง และเมื่อเกิดกรณีพิพาททางปกครอง หากจะนำกรณีพิพาทดังกล่าวไปฟ้อง ศาลก็ต้องฟ้องยังศาลปกครอง ดังนั้น พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง ..., พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาล จึงเป็นกฎหมายปกครอง เพราะเป็นกฎหมายที่บัญญัติให้อำนาจหน้าที่ในทางปกครอง แก่หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ และเมื่อมีกรณีพิพาทเกิดขึ้นจากการใช้อำนาจดังกล่าว จะต้องนำคดีไปพิจารณาในศาลปกครอง เนื่องจากศาลปกครองมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาคดีปกครอง ซึ่งเป็นคดีพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับประชาชน หรือระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชาจากการใช้อำนาจในทางปกครอง”



ประเภทของการใช้อำนาจทางปกครอง “อำนาจผูกพัน” และ “อำนาจดุลพินิจ”
อำนาจทางปกครองมีสองอย่างด้วยกันคือ “อำนาจผูกพัน” และ “อำนาจดุลพินิจ”
“อำนาจผูกพัน” (Mandatory Power) คือ อำนาจที่กฎหมายบัญญัติมอบให้แก่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐว่า เมื่อมีข้อเท็จจริงตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ครบถ้วนแล้ว หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องออกคำสั่งตามเนื้อความที่กฎหมายได้กำหนดไว้เท่านั้น จะตัดสินใจเป็นอย่างอื่นไม่ได้ กล่าวคือ ไม่มีสิทธิใช้ดุลพินิจเลือกได้นั่นเอง เนื่องจากมีผลผูกพันตามบทบัญญัติของกฎหมาย เช่น มีผู้ที่สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมปีที่หก และมีเอกสารหลักฐานครบตามที่ระเบียบมหาวิทยาลัยรามคำแหงกำหนดไว้ เจ้าหน้าที่รับสมัครจะต้องรับสมัคร ไม่รับสมัครไม่ได้ เพราะเป็นอำนาจผูกพันให้ต้องกระทำตามกฎหมาย หรือในกรณีที่ประชาชนมีอายุครบสิบห้าปี มีเอกสารหลักฐานครบตามที่กฎหมายกำหนด เมื่อไปขอทำบัตรประจำตัวประชาชน เจ้าหน้าที่ต้องจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนให้ ไม่สามารถใช้ดุลพินิจที่จะพิจารณาออกหรือไม่ออกให้ได้ และในกรณีกลับกัน หากผู้ยื่นคำขอมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ก็ต้องไม่ออกบัตรประจำตัวประชาชนให้เป็นอันขาด เนื่องจากกฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์การทำบัตรประจำตัวประชาชนไว้เช่นนั้น
หรือในเรื่องการสมรส ถ้าชายอายุยี่สิบปี และหญิงอายุยี่สิบปี เงื่อนไขครบถ้วนตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สมัครใจสมรสกัน ต้องการจะจดทะเบียนสมรสกัน เจ้าหน้าที่ต้องรับจดทะเบียนให้ (ตามพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว) จะปฏิเสธไม่จดทะเบียนให้ไม่ได้ แต่ถ้าเป็นกรณีชายหญิงอายุสิบสี่ปี กับสิบสามปี จะมาจดทะเบียนสมรส กรณีข้อเท็จจริงในเรื่องอายุไม่เป็นไปตามกฎหมาย กรณีนี้เจ้าหน้าที่สามารถปฏิเสธการจดทะเบียนสมรส เจ้าหน้าที่ไม่สามารถเลือกใช้ดุลพินิจเพื่อที่จะรับจดทะเบียนโดยพิจารณาเห็นว่าชายหญิงทั้งสองนี้มีความปรารถนาต้องการจะอยู่ใช้ชีวิตร่วมกันเป็นสามีภริยา เช่นนี้ทำไม่ได้
“อำนาจดุลพินิจ” คือ อำนาจที่กฎหมายมอบให้แก่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถเลือกทำการใดๆ ก็ได้ ภายในขอบเขตที่กฎหมายกำหนด เช่น อำนาจดุลพินิจที่จะลงโทษทางวินัยกรณีไม่ร้ายแรง จะมีโทษตั้งแต่ระดับภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน ลดขั้นเงินเดือน ซึ่งผู้มีอำนาจสามารถเลือกใช้ดุลพินิจในการสั่งลงโทษกรณีใดกรณีหนึ่งได้ตามสมควรและสมเหตุสมผลภายในขอบเขตที่กฎหมายให้อำนาจไว้ หรือกรณีบุคคลใดขออนุญาตพกพาอาวุธปืน ผู้ขอมีเอกสารหลักฐานครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด แต่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจจะออกใบอนุญาตให้หรือไม่ก็ได้ เป็นดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ ซึ่งจะต้องพิจารณาสภาพความเหมาะสมอื่นประกอบ
ทั้งอำนาจผูกพันและอำนาจดุลพินิจนี้ ส่วนใหญ่แล้วกฎหมายจะกำหนดให้ใช้อำนาจทั้งสองนี้ไปด้วยกัน กล่าวคือ เมื่อมีข้อเท็จจริงอย่างใดเกิดขึ้นแล้ว องค์กรฝ่ายปกครองของรัฐจะต้องออกคำสั่งในเรื่องนั้นๆ (อำนาจผูกพัน) แต่จะออกคำสั่งอย่างไรนั้นสามารถตัดสินใจได้อย่างมีอิสระตามที่กฎหมายเปิดช่องไว้ (อำนาจดุลพินิจ) เช่น กรณีข้าราชการกระทำผิดวินัยร้ายแรง กฎหมายบังคับไว้ชัดเจนว่าผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจสั่งบรรจุแต่งตั้ง ต้องสั่งตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยกับข้าราชการผู้นั้น แต่ผู้บังคับบัญชาก็มีอิสระในการตัดสินใจว่าจะสั่งลงโทษข้าราชการผู้นั้นสถานใด กล่าวคือ จะสั่งปลดออก หรือไล่ออกจากราชการ เป็นต้น
บางกรณีกฎหมายอาจกำหนดว่า เมื่อมีข้อเท็จจริงอย่างใดๆ ที่กำหนดไว้แล้วนั้นเกิดขึ้น องค์กรฝ่ายปกครองของรัฐก็มีอิสระในการตัดสินใจว่าจะออกคำสั่งในเรื่องนั้นหรือไม่ (อำนาจดุลพินิจ) แต่ถ้าตัดสินใจไปทางออกคำสั่งแล้วก็จะต้องมีเนื้อความของคำสั่งตามที่กฎหมายกำหนดไว้เฉพาะเจาะจง เช่น กรณีบุคคลผู้ได้สัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติกระทำการใดๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ เช่น กระทำการขัดต่อประโยชน์ของรัฐ หรือกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐ หรือเป็นการเหยียดหยามประเทศชาติ หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เช่นนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสามารถจะตัดสินใจได้อย่างอิสระว่าสมควรจะออกคำสั่งในเรื่องนี้อย่างไรหรือไม่ แต่ถ้าตัดสินใจไปในทางถอนสัญชาติก็ต้องออกคำสั่งให้ถอนสัญชาติบุคคลนั้น

คำถาม จงอธิบายความหมายของการกระทำทางปกครองและรูปแบบการกระทำทางปกครอง และให้วินิจฉัยกรณีดังต่อไปนี้ว่าเป็นการกระทำทางปกครองหรือไม่ รูปแบบใด เพราะเหตุใด
ก) การที่เจ้าหน้าที่รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างในคูคลองสาธารณะที่ปลูกสร้างผิดกฎหมาย
ข) การที่ฝ่ายปกครองตกลงเข้าทำสัญญาเช่าอาคารจากเอกชนเพื่อใช้
เป็นที่ทำการชั่วคราว
ค) การที่บริษัทเอกชนที่ได้รับอนุญาตตรวจสภาพรถยนต์ออกใบรับรองว่ารถยนต์คันที่มารับการตรวจผ่านการตรวจสภาพ
แนวคำตอบ การกระทำทางปกครอง หมายถึง การกระทำของรัฐที่กระทำโดยองค์กรของรัฐฝ่ายปกครอง ทั้งนี้โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติหรือกฎหมายอื่นที่มีค่าเสมอพระราชบัญญัติ
รูปแบบของการกระทำทางปกครอง สามารถพิจารณาได้ ดังนี้
1. คำสั่งทางปกครอง หมายความว่า การใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือ มีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว เช่น การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การวินิจฉัยอุทธรณ์ การรับรองและการรับจดทะเบียน แต่ไม่หมายความรวมถึงการออกกฎ
2. กฎ หมายความว่า พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง ข้อบัญญัติท้องถิ่น ระเบียบ ข้อบังคับหรือบทบัญญัติอื่นที่มีผลบังคับเป็นการทั่วไป โดยไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดหรือบุคคลใดเป็นการเฉพาะ
3. สัญญาทางปกครอง หมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐและ มีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะหรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ
4. ปฏิบัติการทางปกครอง ได้แก่ การกระทำทางปกครองทั้งหลายที่มิใช่การออกกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือ สัญญาทางปกครอง แต่เป็นการกระทำทางปกครองเพื่อให้บรรลุผลในทางข้อเท็จจริง
ก. การที่เจ้าหน้าที่รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างในคูคลองสาธารณะที่ปลูกสร้างผิดกฎหมาย เป็นปฏิบัติการทางปกครอง เพราะมิได้มีลักษณะเป็นการแสดงเจตนาใด ๆ
ให้ปรากฏต่อผู้ใดเลย แต่เป็นการกระทำที่เจ้าหน้าที่ใช้กำลังทางกายภาพเพื่อให้เป็นไป
ตามสิทธิและหน้าที่
ข. การที่ฝ่ายปกครองตกลงเข้าทำสัญญาเช่าอาคารจากเอกชนเพื่อใช้เป็นที่ทำการชั่วคราว ไม่ใช่การกระทำทางปกครองรูปแบบใด เพราะเป็นความสัมพันธ์ภายใต้ระบบกฎหมายเอกชน
ค. การที่บริษัทเอกชนที่ได้รับอนุญาตตรวจสภาพรถยนต์ออกใบรับรองว่ารถยนต์คันที่มารับการตรวจผ่านการตรวจสภาพ เป็นคำสั่งทางปกครอง เพราะบริษัทเอกชนได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย


ไตรภพ USA

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น