วันศุกร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

กฎหมายปกครอง (LP 615) ชุด 7


คดีที่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองฯ มาตรา 9 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ว่า “ศาลปกครอง มีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้
(1) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดเนื่องจากกระทำโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่ หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น หรือโดยไม่สุจริต หรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็น หรือสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ
(2) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของ
รัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้า เกินสมควร
(3) คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่
กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
(4) คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง
(5) คดีที่มีกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานทางปกครอง หรือ เจ้าหน้าที่ของรัฐฟ้องคดีต่อศาลเพื่อบังคับให้บุคคลต้องกระทำ หรือละเว้นกระทำอย่างหนึ่งอย่างใด
(6) คดีพิพาทเกี่ยวกับเรื่องที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง...”
โดยศาลปกครองชั้นต้นมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่อยู่ในอำนาจศาลปกครอง เว้นแต่ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด (มาตรา 10 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ)
ส่วนศาลปกครองสูงสุดนั้น ตามมาตรา 11 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ บัญญัติไว้ว่า “ศาลปกครองสูงสุด มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีดังต่อไปนี้
(1) คดีพิพาทเกี่ยวกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท ตามที่ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดประกาศกำหนด
(2) คดีพิพาทเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของพระราชกฤษฎีกา หรือกฎที่ออกโดยคณะรัฐมนตรีหรือโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี
(3) คดีที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในอำนาจศาลปกครองสูงสุด
(4) คดีที่อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น“
ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ จะเห็นว่า
(1) เป็นเรื่องของการกระทำการ แต่กระทำการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
(2) เป็นเรื่องของการไม่กระทำ คือมีหน้าที่แต่ละเลย ไม่กระทำการ หรือกระทำการแต่ล่าช้าเกินสมควร
(3) เป็นเรื่องของการละเมิดทางปกครอง
(4) เป็นเรื่องของสัญญาทางปกครอง
(5) เป็นเรื่องของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐฟ้องประชาชน (เพราะโดยปกติคดีปกครอง ประชาชนจะเป็นผู้ฟ้องคดี)
(6) เป็นเรื่องที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง

ตัวอย่างประเภทคดีที่ศาลปกครองไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา
1. เรื่องที่ผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีเป็นประชาชนด้วยกัน เช่น การที่ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ ได้กู้เงินพิเศษจากสหกรณ์และได้ลาออกจากราชการเพื่อขอรับเงินบำนาญ แต่สหกรณ์ได้อายัดเงินบำนาญของผู้ฟ้องคดีเพื่อชำระหนี้ที่ค้างชำระ กรณีเป็นเรื่องที่ผู้ฟ้องคดีต้องปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญา หาใช่เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย และกรณีมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำของหน่วยงานทางปกครอง เพราะสหกรณ์ออมทรัพย์มิใช่หน่วยงานทางปกครอง เป็นต้น
2. เรื่องที่ผู้ถูกฟ้องคดีเป็นรัฐวิสาหกิจที่ได้จัดตั้งขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เนื่องจากกฎหมายไม่ถือว่าหน่วยงานเหล่านี้เป็นหน่วยงานทางปกครอง เช่น ธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เป็นต้น
หรือ เรื่องที่ฟ้องรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งโดยกฎหมายเฉพาะ ในส่วนที่รัฐวิสาหกิจนั้นประกอบธุรกิจเยี่ยงเอกชนทั่วไป เช่น เอกชนผู้ใช้โทรศัพท์ฟ้ององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยที่งดให้บริการโทรศัพท์แก่ผู้ฟ้องคดี โดยมิได้ตรวจสอบข้อมูลให้ชัดเจนและถี่ถ้วนว่าผู้ฟ้องคดีชำระค่าใช้บริการแล้ว เป็นกรณีโต้แย้งกันในเรื่องสิทธิและหน้าที่ของผู้ให้เช่าและผู้เช่าตามสัญญาเช่าทรัพย์ในฐานะเอกชนกับเอกชน อันเป็นคดีพิพาททางแพ่ง ไม่เข้าลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง
3. เรื่องที่ผู้ถูกฟ้องคดีเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทำความเดือดร้อนหรือเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีโดยการกระทำส่วนตัว มิใช่การปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็น
เจ้าหน้าที่ของรัฐ
4. เรื่องที่ข้อพิพาทเกิดจากสัญญาทั่วไป มิใช่เกิดจากสัญญาทางปกครองซึ่งได้แก่ สัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค หรือแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ดังนั้น แม้ว่าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง ก็ไม่อาจฟ้องคดียังศาลปกครองได้ เช่น กรณีที่ฟ้องว่าการเคหะแห่งชาติในฐานะผู้ให้เช่าซื้ออาคาร ได้โอนกรรมสิทธิ์การเช่าซื้อของผู้เช่าเดิมไปให้ผู้เช่าซื้อใหม่โดยไม่สุจริต ทำให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นภรรยาของผู้เช่าซื้อเดิมได้รับความเสียหาย (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 27/ 2544)
หรือกรณีที่ฟ้องว่าวิทยาลัยการอาชีพขอนแก่นผิดสัญญากับผู้ฟ้องคดี เพราะยอมให้บุคคลอื่นเข้ามาทำธุรกิจขายสินค้าในลักษณะเช่นเดียวกับร้านค้าสวัสดิการ ซึ่งผู้ฟ้องคดีได้เช่าทำการค้าอยู่ (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 17/ 2544)
คดีเหล่านี้ต้องฟ้องศาลยุติธรรม ไม่ใช่ศาลปกครอง
5. เรื่องที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในอำนาจของศาลแพ่ง หรือศาลอาญา หรือเป็นการกระทำของเจ้าพนักงานตามคำสั่งศาลยุติธรรม หรือตามหลักเกณฑ์ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เช่น
กรณีที่ฟ้องว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดไม่ถูกต้องตามระเบียบ เป็นกระบวนการดำเนินการบังคับคดีแพ่งตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดราชบุรี ผู้ฟ้องคดีย่อมที่จะร้องคัดค้านต่อศาลจังหวัดราชบุรีได้
หรือกรณีที่ฟ้องว่าเจ้าหน้าที่ศาลจังหวัดไม่ให้ผู้ฟ้องคดีตรวจดูเอกสารจากสำนวนคดีของศาล เป็นคดีพิพาทที่ศาลปกครองไม่อาจรับไว้พิจารณาหรือกำหนดคำบังคับได้ เนื่องจากการให้ตรวจดูเอกสารในสำนวนคดีเป็นอำนาจของศาลยุติธรรมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ไม่อยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540
หรือ กรณีฟ้องให้ชดใช้ค่าเสียหายกรณีเจ้าพนักงานบังคับคดีปิดหมาย
ศาลแพ่งผิดบ้าน การปิดหมายของเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งศาลยุติธรรม เมื่อผู้ฟ้องคดีเห็นว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ต้องใช้สิทธิต่อศาลยุติธรรมที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น
6. เรื่องที่ขาดอายุความฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมแล้วตั้งแต่ก่อนวันที่ 9 มีนาคม 2544 ซึ่งเป็นวันที่ศาลปกครองเปิดทำการ เช่น
ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นข้าราชการตำรวจ ได้ถูกลงโทษไล่ออกจากราชการ จึงได้อุทธรณ์คำสั่งลงโทษต่อคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ จนได้รับการลดโทษลงเป็นการปลดออกจากราชการ หากผู้ฟ้องคดีไม่พอใจผลการพิจารณาอุทธรณ์ก็ต้องใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาล แต่เนื่องจากในขณะนั้นยังไม่มีการจัดตั้งศาลปกครอง ผู้ฟ้องคดีจึงต้องฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมภายในอายุความ ดังนั้น เมื่อผู้ฟ้องคดีได้รับแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ตามหนังสือลงวันที่ 17 มิถุนายน 2539 แต่เพิ่งมาฟ้องคดีต่อศาลปกครองในวันที่ 19 เมษายน 2544 ศาลปกครองจึงไม่รับคำฟ้องนั้นไว้พิจารณา (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 31/ 2544)
7. เรื่องที่เป็นการดำเนินกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ซึ่งถือว่าไม่ใช่เป็นการใช้อำนาจทางปกครอง หรือดำเนินกิจการทางปกครอง
เช่น การออกหมายจับ หรือการดำเนินการสืบสวนสอบสวนของพนักงานสอบสวน หรือการใช้ดุลพินิจสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาของพนักงานอัยการ หรือการที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมีความเห็นแย้งคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ เป็นต้น ซึ่งศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยยืนยันหลักดังกล่าวไว้ในคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดที่ 6/ 2544, ที่ 14/ 2544, ที่ 34/ 2544, ที่ 106/ 2544 และที่ 523/ 2545
การดำเนินกระบวนการยุติธรรมทางอาญานั้นเป็นขั้นตอนการดำเนินงานที่จะนำไปสู่การนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษทางอาญา เช่น การจับกุม การสอบสวน การเปรียบเทียบปรับ การมีความเห็นสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้อง การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลยุติธรรม ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่การกระทำอื่นๆ ของเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือพนักงานอัยการที่นอกเหนือ หรือไม่ได้กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้น หากเข้าเงื่อนไขของคดีปกครองตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ ก็อาจเป็นการกระทำทางปกครองได้ เช่น การละเลยต่อหน้าที่ หรือล่าช้าในการปฏิบัติหน้าที่
คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 337/ 2545 พนักงานสอบสวนรับเรื่องร้อง
ทุกข์ของผู้ฟ้องคดีไว้แล้วไม่ดำเนินการสอบปากคำพยานผู้รู้เห็นเหตุการณ์ ในคดีซึ่งบุตรชายของผู้ฟ้องคดีถูกยิงเสียชีวิต จนเวลาล่วงเลยไปถึง 7 ปี กรณีจึงเป็นเรื่องที่พนักงานสอบสวนละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร และมิใช่เรื่องการดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จึงเป็นคดีที่ศาลปกครองรับไว้พิจารณาได้ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ
8. เรื่องที่ประสงค์จะขอให้ศาลปกครองลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐในทางวินัยหรือทางอาญา เพราะเจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย
เนื่องจากเรื่องดังกล่าวเป็นอำนาจของผู้บังคับบัญชาของผู้นั้น หรือของเจ้าหน้าที่อื่น ไม่ใช่อำนาจของศาลปกครอง และการดำเนินการลงโทษดังกล่าวก็ไม่มีผลเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนหรือความเสียหายของผู้ถูกฟ้องคดี อีกทั้งเป็นคำขอที่ศาลปกครองไม่อาจออกคำบังคับให้ได้ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ เช่น กรณีที่ฟ้องว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการดำเนินคดีรถยนต์เฉี่ยวชนกัน ซึ่งมีผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ต้องหาและนายประกัน จึงได้ร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชา แต่ได้รับแจ้งผลว่าเจ้าหน้าที่นั้นได้ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบแล้ว โดยไม่มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและสอบปากคำผู้ฟ้องคดี จึงฟ้องศาลให้สั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรงแก่เจ้าหน้าที่ คำขอเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องที่ศาลปกครองจะมีคำสั่งให้ได้ เป็นต้น
9. เรื่องที่ความเดือดร้อนหรือเสียหายของผู้ฟ้องคดีได้หมดสิ้นไป
แล้วในขณะที่มายื่นคำฟ้อง หรือมีการเยียวยาความเดือดร้อนหรือเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีแล้วก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งให้รับคำฟ้องไว้พิจารณา เนื่องจากในขณะนั้นไม่มีความจำเป็นที่ศาลจะพิจารณาพิพากษาให้แล้ว
เช่น กรณีที่ฟ้องการรถไฟแห่งประเทศไทยให้จ่ายเงินค่าทดแทนการเวนคืนที่ดินไว้แล้ว แต่ก่อนที่ศาลปกครองจะมีคำสั่งให้รับคำฟ้องไว้พิจารณา ผู้ฟ้องคดี
ได้รับเงินค่าทดแทนในส่วนที่มาฟ้องคดีไปเรียบร้อยแล้ว
ข้อนี้ไม่รวมถึงกรณีที่หน่วยงานมีคำสั่งเรียกให้เจ้าหน้าที่ชดใช้เงินเนื่องจากทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ แม้ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ และสัญญาผ่อนชำระหนี้แก่หน่วยงานอันอาจมีผลทำให้หนี้ระงับแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ยังอาจฟ้องเพิกถอนคำสั่งเรียกให้ใช้เงินที่เป็นคำสั่งทางปกครองได้ ไม่ถือว่าเหตุแห่งการฟ้องคดีหมดสิ้นไป เพราะความเดือดร้อนเสียหายยังไม่หมดไป
10. เรื่องที่ฟ้องเจ้าหน้าที่ที่ทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 บัญญัติให้ฟ้องหน่วยงานของรัฐ ห้ามฟ้องเจ้าหน้าที่
เช่น ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรที่ออกคำสั่งเลื่อนตำแหน่งข้าราชการไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งดำรงตำแหน่งนักวิชาการเกษตร 7 ไม่ได้รับแต่งตั้งเป็นเกษตรจังหวัดนั้น กฎหมายให้สิทธิผู้เสียหายที่จะฟ้องหน่วยงานของรัฐ คือกรมส่งเสริมการเกษตร แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่คืออธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองชั้นต้นจะสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาไม่ได้ แต่ชอบที่จะกำหนดให้หน่วยงานทางปกครองเป็นผู้ถูกฟ้องคดีเพิ่มขึ้นให้สอดคล้องกับบทบัญญัติมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดฯ
11. เรื่องที่ฟ้องหน่วยงานของรัฐให้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการกระทำละเมิด ที่เกิดจากการที่ข้าราชการหรือลูกจ้างของหน่วยงานขับรถโดยประมาทเลินเล่อ ชนรถของเอกชนเสียหายหรือชนผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ ต้องฟ้องต่อศาลยุติธรรม ไม่ใช่ศาลปกครอง
12. เรื่องที่ฟ้องโต้แย้งเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดิน หรือสิทธิในทรัพย์สิน
เช่น กรณีที่โต้แย้งกันเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทว่า เป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดี หรือเป็นที่ราชพัสดุสำหรับใช้ในราชการกองทัพอากาศ ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีหรือไม่ จึงจะสามารถพิจารณาว่ากรมส่งกำลังบำรุงทหารอากาศละเมิดสิทธิของผู้ฟ้องคดีหรือไม่ ซึ่งการพิจารณาเรื่องสิทธิในที่ดินเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาจึงได้แก่ศาลยุติธรรม
13. การโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของบุคคลที่จะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
เช่น กรณีที่ฟ้องเพิกถอนการที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท โดยอ้างว่ามติของที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเป็นมติที่ไม่ชอบนั้น จะต้องได้ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติเสียก่อนว่าการโอนหุ้น การเปลี่ยนแปลงบัญชีผู้ถือหุ้น และการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งต้องดำเนินการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
14. เรื่องการคัดค้านสมาชิกสภาท้องถิ่นที่กฎหมายกำหนดให้ศาลใช้หลักเกณฑ์ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
เช่น การคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล หรือสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ที่กฎหมายให้ศาลพิจารณาคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง จึงเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม หากให้ศาลปกครองตัดสินคดีโดยใช้วิธีพิจารณาความแพ่งแทน จะไม่สอดคล้องกับระบบและความมุ่งหมายของกฎหมาย
15. เรื่องที่ฟ้องเกี่ยวกับการใช้อำนาจทางการปกครองคณะสงฆ์
เช่น กรณีที่ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นพระภิกษุฟ้องว่าเจ้าอาวาสออกคำสั่งห้ามมิให้ผู้ฟ้องคดีปฏิบัติกิจทางศาสนาที่เกี่ยวข้องกับฆราวาส โดยไม่ให้เหตุผลและระบุความผิดเป็นลายลักษณ์อักษร และเจ้าคณะตำบลจะใช้อำนาจในตำแหน่งจับผู้ฟ้องคดีให้สึกจากการเป็นพระภิกษุ เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นเรื่องที่ผู้ถูกฟ้องคดีใช้อำนาจตามกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์ ในฐานะพระสังฆาธิการสั่งให้ผู้ฟ้องคดีปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดในขอบเขตอำนาจหน้าที่ของสงฆ์ อันเป็นการใช้อำนาจทางการปกครองคณะสงฆ์และเป็นคำสั่งในกิจการปกครองของคณะสงฆ์ ซึ่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ที่เป็นกฎหมายเฉพาะว่าด้วยการปกครองคณะสงฆ์ ได้วางแนวทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ความไม่เป็นธรรมทางการปกครองไว้เป็นระบบต่างหากแล้ว จึงมิใช่ข้อพิพาทอันเนื่องมาจากการกระทำทางปกคอรงที่ศาลปกครองจะมีอำนาจเข้าไปตรวจสอบได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น